ประวัติ ของ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยนเรศวร

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช

มหาวิทยาลัยนเรศวรมีประวัติการก่อตั้งและพัฒนาโดยแบ่งได้เป็น 3 ยุคสมัย คือ ยุคที่ 1 วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก ยุคที่ 2 มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก และยุคปัจจุบัน คือ มหาวิทยาลัยนเรศวร[9][10]

ยุควิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก

วงการการศึกษาได้ประสบปัญหาเข้ามาอีกทั้งภาวะการขาดแคลนครูเป็นอันมากและวุฒิการศึกษาครูสูงที่สุดคือ วุฒิ ป.ม. (ประกาศนียบัตรประโยคครูมัธยม) ซึ่งเทียบเท่ากับอนุปริญญาเท่านั้น ทำให้เกิดความล้าหลังในอาชีพครู[11] อีกทั้งครู ป.ม. บางคนเมื่อศึกษาเพิ่มเติมสูงขึ้นได้ปริญญาทางด้านอื่นแล้วต่างลาออกไปประกอบอาชีพใหม่ที่เข้าใจว่ามีความก้าวหน้ามากกว่า ผู้บริหารในวงการศึกษาจึงได้มีการปรึกษาหารือและดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวมาตามลำดับ แต่ความเข้าใจในเวลานั้นของผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบุคคลในพรรครัฐบาล จึงต้องใช้ความพยามยามอย่างมาก

ดร. สาโรช บัวศรี เป็นบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้เข้าชี้แจงให้คณะรัฐบาลเข้าใจถึงเหตุและผลที่จะดำเนินการและสิ่งที่เกิดขึ้น หากให้สามารถเปิดสอนครูถึงระดับปริญญา และสามารถชี้แจงจนเข้าใจร่วมกันได้ ซึ่งในที่สุดที่ประชุมจึงได้มีมติยอมรับ และในที่สุดก็ผ่านพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ในปี พ.ศ. 2497[12] แต่กว่าที่จะได้มีการยอมรับนั้นค่อนข้างพบอุปสรรคพอสมควร

...ตอนนั้นในหมู่ประชาชนความคิดที่ว่าจะให้ครูเรียนถึงปริญญายังไม่มี ดังนั้นการเสนอให้ครูมีการศึกษาถึงระดับปริญญาตรีเป็นของที่แปลกมาก อีกประการหนึ่งนั้นจะให้สถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยประสาทปริญญานี้ยิ่งไม่เข้าใจใหญ่ ฉะนั้นพอกฎหมายไปถึงพรรคเสรีมนังคศิลาแล้ว ผมก็ต้องไปชี้แจงหนักหน่วงมาก เพราะท่านผู้แทนสมัยโน้นเขาไม่เข้าใจเลย เป็นวิทยาลัยอะไรให้ปริญญา? เป็นครู, เป็นศึกษาธิการอำเภอจะเอาปริญญาเชียวหรือ? ผมก็ต้องชี้แจงมากมาย…

…แต่พอมาถึงประเด็นที่ว่า วิทยาลัยจะประสาทปริญญาได้นี่ไม่เคยเห็นมีแต่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เท่านั้น เป็นแค่วิทยาลัยจะมาประสาทปริญญาไม่เห็นด้วย เป็นไปไม่ได้ ผมก็ออกไปชี้แจงอีก…แต่เขาก็ไม่ฟังเสียง เป็นวิทยาลัยจะมาประสาทปริญญาได้อย่างไร ตอนนั้นผมก็หนักใจมาก แต่ก็กัดฟันชี้แจงต่อไปอีก แล้วก็เป็นการบังเอิญมีรัฐมนตรีท่านหนึ่งซึ่งอยู่ในที่ประชุมและผมทราบลูกของท่านเรียนอยู่ที่วิทยาลัยแห่งหนึ่งในรัฐแคลิฟอร์เนีย กำลังทำปริญญาเอกด้วย ทำไมทำได้ล่ะ เขาจึงค่อยเงียบเสียงลง…

— ศาสตราจารย์ ดร. สาโรช บัวศรี, ปราชญ์ผู้ทรงศีล พ.ศ. 2531

อย่างไรก็ตามในที่สุดก็สามารถตราพระราชบัญญัติวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้สำเร็จ โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2497[11] ในระหว่างนั้น อาจารย์บุญถิ่น อัตถากร อธิบดีกรมการฝึกหัดครู (พ.ศ. 2500 –2513) และเป็นคณะกรรมการร่วมของโครงการพัฒนาการศึกษาด้วย ซึ่งถือเป็นบุคคลที่ให้ความสำคัญกับงานฝึกหัดครูอย่างมาก จากแนวคิดในการดำเนินการขยายการฝึกหัดครูระดับปริญญาไปสู่ส่วนภูมิภาคนั้น จึงได้มีการขยายวิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งขณะนั้นยังสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และมีความคล้ายคลึงทั้งในที่มา จุดประสงค์และการดำเนินการเพื่อผลิตบุคลากรวิชาชีพครู เหมือนกับกรมการฝึกหัดครู โดยแนวคิดของอาจารย์บุญถิ่น อัตถากรนั้น คือ[13][14]

…ต้องการใช้การศึกษาพัฒนาชุมชนในชนบท โดยต้องรีบผลิตครูที่มีคุณภาพและจำนวนมากพอเพียงออกไปเป็นผู้นำ โดยการศึกษาฝึกหัดครูจะต้องเป็นขั้นๆโดยลำดับจนถึงขั้นปริญญา ขณะเดียวกันก็ค่อยลดการผลิตครูระดับประกาศนียบัตรลงจนเลิกไปในที่สุด และผลิตครูขั้นปริญญาเพิ่มขึ้น และเมื่อถึงโอกาสอันสมควร, สถานศึกษาฝึกหัดครู สถานศึกษาอาชีวศึกษาและสถาบันขั้นปริญญาต่างๆ ซึ่งอยู่ในจังหวัดเดียวกันและจังหวัดใกล้เคียง ก็จะรวมกันเป็นมหาวิทยาลัยภูมิภาค…
— อาจารย์บุญถิ่น อัตถากร อดีตอธิบดีกรมการฝึกหัดครู (พ.ศ. 2500 –2513)

หลังจากนั้นจึงได้มีการขยายวิทยาเขตไปสู่ภาคต่าง ๆ ทุกภาค โดยได้เปิดสอนแห่งเดียวในแต่ละภาค คือ ภาคเหนือเปิดที่พิษณุโลก (25 มกราคม 2510) ภาคใต้ที่สงขลา (1 ตุลาคม 2511) ภาคตะวันออกที่ชลบุรี (8 กรกฎาคม 2498) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มหาสารคาม และกรุงเทพมหานครที่บางเขน (27 มีนาคม 2512)

ยุคมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลก

ในวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 ได้มีประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517 ในราชกิจจานุเบกษา[15] ซึงเป็นการรวมวิทยาลัยเขตทั้งหมด เป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และโอนสถานะไปสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และเรียกชื่อมหาวิทยาลัยและชื่อวิทยาเขตตามสถานที่ตั้งของวิทยาเขตต่อท้าย ยกเว้นวิทยาเขตพระนครให้เปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางเขน

ก่อนที่จะได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยได้นั้น ทางวิทยาลัยวิชาการศึกษาได้เริ่มมีการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ทั้งนี้ เมื่อครั้งที่ศาสตราจารย์ ดร. สุดใจ เหล่าสุนทร เข้าดำรงตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา และเห็นว่าการบริหารงานของวิทยาลัยนั้นขาดความคล่องตัวอยู่มาก เนื่องด้วยข้อจำกัดหลายประการจะเป็นปัญหาระยะยาวในการขยายผลด้านการศึกษาในอนาคตต่อไป ท่านจึงได้ร่างพระราชบัญญัติเพื่อขอยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยต่อสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา โดยในระหว่างนั้น ศาสตราจารย์ ดร. สุดใจ เหล่าสุนทร ได้ออกเอกสารที่เรียกว่า 'เอกสารปกขาว' เพื่อชี้แจงหลักการและเหตุผลดังกล่าวแก่ผู้ที่สนใจรับทราบว่า

…เมื่อข้าพเจ้าได้รับตำแหน่งอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษาเมื่อเดือนมกราคม 2512 ได้พบว่าการดำเนินงานของวิทยาลัยวิชาการศึกษาไม่มีความคล่องตัวเป็นอันมาก จึงได้ร่างพ.ร.บ. ยกฐานะวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยเสนอต่อประธานสภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2512 และรอรับฟังพิจารณาอยู่ 1 ปีเต็ม จนถึงเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2512 จึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ. นี้ต่อประธานสภาวิทยาลัยวิชาการอีกครั้งหนึ่ง และเสนอให้เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ เพื่อพิจารณาอีกทางหนึ่ง...

...อาจจะเป็นเพราะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็น วิทยาลัย ในความหมายของความเข้าใจของบุคคลทั่วไปว่า ไม่ใช่สถานศึกษาชั้นปริญญาในระดับมหาวิทยาลัย ดังที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาได้ดำเนินงานอยู่จริง จึงเห็นสมควรที่จะออกเอกสารฉบับนี้ เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่บุคคลที่สนใจในการศึกษาขั้น มหาวิทยาลัย

เมื่อได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อไปตามลำดับ โดยเป็นการดำเนินการตามวิธีที่ถูกต้องและขั้นตอนระเบียบแบบแผนของทางราชการ เริ่มตั้งแต่สภาวิทยาลัยวิชาการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สภาการศึกษา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นเรื่องได้หยุดชะงักไปช่วงหนึ่ง เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศที่ไม่เอื้อในเวลานั้น การดำเนินการจึงได้มายุติโดยการยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นกรมหนึ่งของกระทรวงศึกษาธิการ ตามประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 216 ลงวันที่ 29 กันยายน 2515

จากการที่วิทยาลัยโดยความร่วมมือทั้งอาจารย์และนิสิตได้พยายามดำเนินการมาตามลำดับอย่างสม่ำเสมอและด้วยความจริงจัง กระทั่งในวันที่ 16 มกราคม 2517 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้ยกฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย และได้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติ กระทั่งมีการประกาศใช้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พ.ศ. 2517[15]

ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้ทรงโปรดเกล้าฯพระราชทานชื่อมหาวิทยาลัยให้เป็นมงคลนามและพระราชทานความหมายว่า " มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร " โดย ' วิโรฒ ' มาจาก ' วิรูฒ ' (ภาษาสันสกฤต) ' วิรุฬห์ ' (ภาษาบาลี) ซึ่งแปลว่า " เจริญ , งอกงาม "

ภายหลังทางวิทยาลัยโดยความร่วมมือทั้งอาจารย์และนิสิต ได้พยายามดำเนินการมาตามลำดับ ทั้งนี้โดยตระหนักจากการพิจารณาองค์ ประกอบความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของวิทยาลัยและประโยชน์อันจะเกิดขึ้นต่อ วิทยาลัยและในวงกว้างทางการศึกษาและประเทศชาติต่อไป ทางวิทยาลัย จึงได้มีการชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยได้ดังนี้

  1. วิทยาลัยวิชาการศึกษามีความพร้อมโดยสมบูรณ์ที่จะเติบโต เป็นมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ทางวิทยาลัยมีความพร้อมของอุปกรณ์ประกอบการสอน อาจารย์ และอาคารสถานที่เพียงพอที่จะเปิดสอนสาขาอื่น ๆ ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มขึ้น
  2. ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาลัยวิชาการศึกษา
  3. ความคล่องตัวในการบริหารงาน
  4. ความเจริญก้าวหน้าทางวิชาการความหลากหลายทางการศึกษาที่ จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

หลังจากที่ได้ยกฐานะแล้ว ทางมหาวิทยาลัยฯได้นำวิธีสอบคัดเลือกนิสิต เข้าศึกษาใน 2 ระดับ คือชั้นปีที่ 1 และ 3 ซึ่งในปีการศึกษานี้มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พิษณุโลกยังคงรับนิสิตภาคปกติที่จบป.กศ. สูงเข้าศึกษาชั้นปีที่ 3 โดยวิธีการสอบคัดเลือกเหมือนเดิม แต่ที่เพิ่มเข้ามาใหม่ คือได้เปิดรับสมัครสอบนิสิตชั้นปีที่ 1 เข้าเรียนหลักสูตรปริญญาตรี 4 ปีเป็นปีแรกโดยใช้ วิธีการสอบผ่านทบวงมหาวิทยาลัย โดยรับทั้งสิ้น 63 คน สำหรับวิชาเอกที่เปิดในปีการศึกษา 2517 มีดังนี้ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ภูมิศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ ชีววิทยา และการประถมศึกษาซึ่งได้ใช้วิธีการสอบแข่งขันในการคัดเลือกผู้มาเรียนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตรได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2517 แล้ว วิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลกจึงได้ยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาเขตหนึ่งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหารของมหาวิทยาลัยเช่นเดียวกับวิทยาลัยวิชาการการศึกษาอื่น ๆ อีก 8 แห่ง การจัดการเรียนการสอนในสมัยนั้นเปิดสอนเพียง 5 คณะ คือ คณะศึกษาศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัย[10] โดยสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตพิษณุโลกยังคงใช้สถานที่เดิมของวิทยาลัยวิชาการศึกษาพิษณุโลก

จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 – พ.ศ. 2524) ที่กำหนดให้จังหวัดพิษณุโลก เป็นเมืองศูนย์กลางและเมืองหลักของภาคเหนือตอนล่าง ทางวิทยาเขตจึงขออนุญาตกระทรวงมหาดไทย ในการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา และรองรับการขยายตัวของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รับอนุญาตในปี พ.ศ. 2527 โดยเป็นช่วงเดียวกับที่ทางทบวงมหาวิทยาลัยในขณะนั้นประกาศโครงการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ของรัฐในส่วนภูมิภาคอีก 5 แห่ง โดยที่ดินที่ได้รับการจัดสรรใหม่นี้อยู่บริเวณทุ่งหนองอ้อ – ปากคลองจิก ตำบลท่าโพธิ์ อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน

ยุคมหาวิทยาลัยนเรศวร

ช่วงปี พ.ศ. 2527–2531 ทางวิทยาเขตได้เตรียมแผนสำหรับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ และในวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 400 ปี ของการเสด็จขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช รัฐบาลในสมัยของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีมติให้ยกฐานะวิทยาเขตพิษณุโลก ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามมหาวิทยาลัยใหม่แห่งนี้ว่า "มหาวิทยาลัยนเรศวร" ดังนั้น ทางมหาวิทยาลัยจึงกำหนดให้วันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย[10]

ภายหลังจากการยกฐานะของมหาวิทยาลัยนเรศวรแล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วทั้งอาคาร สถานที่และบุคลากร โดยมุ่งหวังที่จะเป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์แบบ (Comprehensive University)[16] จึงมีการจัดตั้งคณะ วิทยาลัยต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทุกสาขาวิชา และจัดตั้งหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนและเพิ่มศักยภาพในด้านการเรียนการสอน และการทำวิจัย ต่อมาในปี พ.ศ. 2538 ทางมหาวิทยาลัยมีมติจัดตั้งวิทยาเขตที่จังหวัดพะเยา[17] โดยปัจจุบันได้ยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยพะเยา[18] และในปี พ.ศ. 2548 ได้จัดตั้งโรงเรียนมัธยมสาธิตมหาวิทยาลัยนเรศวร[19] เพื่อเป็นโรงเรียนตัวอย่างในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภาษาต่างประเทศในระดับมัธยมให้กับนักเรียนในเขตภาคเหนือตอนล่าง

ใกล้เคียง